ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354
ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
แผนที่กัมพูชา ในสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ตอนต้น | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) อาณาจักรกัมพูชา |
ราชวงศ์เหงียน (เวียดนาม) อาณาจักรกัมพูชา | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์) พระยาอภัยภูเบศร (แบน) พระยาอินทรบดีสีหราชรองเมือง นักองค์สงวน พระยาเดโช (เม็ง) |
พระเจ้ายาล็อง เล วัน เสวียต (Lê Văn Duyệt) เหงียน วัน เญิน (Nguyễn Văn Nhơn) เหงียน วัน ถว่าย (Nguyễn Văn Thoại) สมเด็จพระอุไทยราชา (นักองค์จันทร์) พระยาบวรนายก (สวด) พระยาธรรมเดโช (มัน) พระยาโยธาสงคราม (มา) |
ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 เป็นความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระอุไทยราชา หรือนักองค์จันทร์ กษัตริย์กัมพูชาซึ่งฝักใฝ่ฝ่ายญวนเวียดนาม และนักองค์สงวนเจ้าชายกัมพูชาผู้ฝักใฝ่สยาม นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และอาณาจักรเวียดนามราชวงศ์เหงียนในสมัยของพระเจ้ายาล็อง
เหตุการณ์นำ
[แก้]กัมพูชาในสมัยกรุงธนบุรี
[แก้]อาณาจักรกัมพูชาในช่วงยุคมืดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยามและเวียดนาม เจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียนแผ่ขยายอำนาจลงเวียดนามภาคใต้ ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของอาณาจักรเขมรอุดง ความขัดแย้งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างเจ้านายกัมพูชาต่างฝ่ายต่างขอความช่วยเหลือจากสยามหรือญวน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามและญวนหลายครั้ง
หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 เจ้าศรีสังข์ ซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เสด็จไปประทับที่เมืองอุดงหรือบันทายเพชรของกัมพูชาภายใต้ความคุ้มครองของนักองค์ตนหรือพระนารายณ์ราชากษัตริย์กัมพูชา ต่อมาในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชสาสน์ถึงพระนารายณ์ราชานักองค์ตน ให้กัมพูชาแต่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเครื่องบรรณาการไปถวายแก่กรุงธนบุรีดังเช่นเคยในสมัยอยุธยา พระนารายณ์ราชาทรงไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของสยาม “บุตรจีนหัยหงษ์ตั้งตัวขึ้นเป็นกระษัตริย์ จะให้เรานำดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ไปถวายอย่างไรเห็นจะไม่สมควร” [1]ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แต่งทัพเข้าโจมตีกัมพูชา เพื่อปราบพระนารายณ์ราชากษัตริย์กัมพูชาและเพื่อหาตัวเจ้าศรีสังข์ ทรงให้พระยายมราช (ทองด้วง) ยกทัพจำนวน 10,000 คน[2] ไปทางปราจีนบุรี พระตะบอง โพธิสัตว์ เข้าโจมตีเมืองอุดง ให้นักองค์โนนไปในกองทัพด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินพร้อมทั้งพระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง 陳聯 หรือ เฉินเหลียน พินอิน: Chén Lián) เสด็จเป็นองค์จอมทัพไปทางเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ นำไปสู่สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 พระยายมราชยึดได้เมืองพระตะบองเสียมราฐโพธิสัตว์และเมืองบริบูรณ์ และพระยาพิพิธยึดได้เมืองเปียมบันทายมาศ สมเด็จพระนารายณ์ราชานักองค์ตนพร้อมทั้งพระราชวงศ์จึงเสด็จลี้ภัยไปยังเมืองไซ่ง่อนประทับภายใต้ความคุ้มครองของเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần 阮福淳)
เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วน ส่งเหงียนกิ๋วด่าม[3] (Nguyễn Cửu Đàm 阮久潭) เป็นแม่ทัพยกทัพญวนจำนวน 10,000 คน[1] เข้าโจมตีเมืองอุดงคืนให้แก่นักองค์ตน พงศาวดารเขมรระบุว่าฝ่ายญวนสามารถเอาชนะฝ่ายไทยได้[1][3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเมืองกัมพูชาและบันทายมาศรักษาไว้ได้ยาก จึงมีท้องตราให้พระยายมราชและพระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) เลิกทัพกลับธนบุรี โดยตั้งพระรามราชา (นักองค์โนน) รักษาไว้ที่เมืองกำปอด ในพ.ศ. 2314 ปีเดียวกับที่สยามยกทัพโจมตีกัมพูชานั้น ในเวียดนามเกิดกบฏเตยเซินขึ้นต่อต้านการปกครองของเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน ทำให้ฝ่ายญวนเสื่อมอำนาจลง ฝ่ายพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) เสด็จจากไซ่ง่อนกลับกัมพูชา นักองค์ตนทรงเจรจากับนักองค์โนนซึ่งอยู่ที่เมืองกำปอด ยกราชสมบัติให้นักองค์โนนขึ้นครองราชย์สมบัติกัมพูชาเป็นสมเด็จพระรามราชาฯกษัตริย์กัมพูชาในพ.ศ. 2318 ส่วนนักองค์ตนนั้นทรงลดยศลงเป็นพระมหาอุปโยราช และให้นักองค์ธรรมเป็นพระมหาอุปราช
ในพ.ศ. 2320 พระมหาอุปราช (นักองค์ธรรม) ถูกปลงพระชนม์ และพระมหาอุปโยราช (นักองค์ตน) ล้มป่วยถึงแก่พิราลัย พระรามราชา (นักองค์โนน) จึงเป็นกษัตริย์กัมพูชาครองอำนาจอยู่แต่พระองค์เดียว ในพ.ศ. 2322 เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และพระยาเดโช (แทน) ขุนนางกัมพูชาสองพี่น้องซึ่งเข้าใจว่าพระรามราชานักองค์โนนทรงเป็นต้นเหตุให้นักองค์ตนและนักองค์ธรรมถึงแก่พิราลัย เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และพระยาเดโช (แทน) เข้าฝักใฝ่ญวนในขณะนั้นเหงียนฟุกอั๊ญหรือองเชียงสือ ตั้งอยู่ที่เมืองไซ่ง่อนเพื่อต่อสู้กับเตยเซิน องเชืองสือส่งทัพญวนเข้ามาสนับสนุนเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ฝ่ายเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จับองค์นักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชาใส่กรงแล้วปลงพระชนม์เสียที่บึงขยอง[1] เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ยกเอานักองค์เองโอรสของนักองค์ตนซึ่งมีพระชนมายุเพียงสี่ชันษา ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาต่อมาโดยที่เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการ
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบว่ากัมพูชาเกิดจลาจลพระรามราชาถูกปลงพระชนม์ จึงทรงเคืองพระยายมราช (แบน) ว่าเป็นพี้เลี้ยงของนักองค์โนนกลับปล่อยให้นักองค์โนนถูกสังหาร สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้จับกุมตัวพระยายมราช (แบน) มากุมขังที่ธนบุรี เจ้าพระยาจักรีได้ช่วยเหลือให้พระยายมราช (แบน) พ้นโทษ พระยายมราช (แบน) จึงได้เป็นข้าหลวงเดิมนับแต่นั้น ในพ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพเข้าตีกัมพูชาเพื่อตั้งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา แต่เกิดเหตุการณ์กบฏพระยาสรรค์ขึ้นเสียก่อน สงครามครั้งนั้นจึงยุติลง
กัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ 1
[แก้]สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในปีเดียวกันนั้นพ.ศ. 2325 องเชียงสือพ่ายแพ้ให้แก่เตยเซินเสียเมืองไซ่ง่อน หลบหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯ ฝ่ายเมืองกัมพูชานักองค์เองกษัตริย์กัมพูชาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ผู้สำเร็จราชการ พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) ร่วมมือกันสังหารเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ได้สำเร็จ แต่พระยาเดโช (แทน) ผู้เป็นน้องหลบหนีไปได้ พระยายมราช (แบน) ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะผู้สำเร็จราชการกัมพูชา แต่เจ้าพระพุฒ (ตวนเสด)[1] ขุนนางแขกจามสามารถยกทัพเข้ายึดเมืองอุดงได้ ทำให้เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) จำต้องนำนักองค์เอง พร้อมทั้งพระเชษฐภคินีอีกสององค์คือนักองค์อี และนักองค์เภา นำเสด็จเดินทางลี้ภัยไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงชุบเลี้ยงนักองค์เองกษัตริย์กัมพูชาเป็นพระโอรสบุญธรรม โปรดฯให้นักองค์เองและบรรดาขุนนางกัมพูชาพำนักที่คอกกระบือ ต่อมาย้ายไปที่วังเจ้าเขมรที่คลองขุดใหม่ใต้วัดสระเกษ ส่วนนักองค์อีและนักองค์เภานั้นเป็นบาทบริจาริกาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
เจ้าพระพุฒ (ตวนเสด) ยกเมืองอุดงให้แก่พระยาเดโช (แทน) ต่อมาตวนเสดถูกสังหาร พระยาเดโช (แทน) ตั้งตนเป็นเจ้าฟ้าทะละหะภายใต้การสนับสนุนของเวียดนามราชวงศ์เตยเซิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์[4] หรือในพงศาวดารเขมรเรียกว่า”เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์”[1] เป็นผู้สำเร็จราชการกัมพูชาฝ่ายสยามไปรักษาเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และโพธิสัตว์ ในปีพ.ศ. 2332 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ส่งทัพไปยึดเมืองอุดงได้สำเร็จ จับตัวเจ้าฟ้าทะละหะ (แทน) ส่งมาที่กรุงเทพ[1] และองเชียงสือเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนตั้งตนเป็นเจ้าอนัมก๊กได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชดำริว่า นักองค์เองกษัตริย์กัมพูชายังเยาว์วัย หากอภิเษกให้นักองค์เองออกไปเป็นกษัตริย์กัมพูชาอาจเป็นอันตรายจากการแก่งแย่งอำนาจในกัมพูชา จึงทรงให้นักองค์เองประทับอยู่ในกรุงเทพก่อนและให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้สำเร็จราชการกัมพูชารักษาการณ์
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนในกัมพูชาด้วยการสนับสนุนของสยาม เป็นเวลาสิบสองปี จนกระทั่งในพ.ศ. 2337 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯพระราชทานอภิเษกนักองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา พระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ และทรงแต่งตั้งพระยากลาโหม (ปก) พี่เลี้ยงของนักองค์เองเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ นอกจากนี้ ยังมีพระดำริว่าเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์มิได้เป็นพวกเดียวกันกับนักองค์เอง หากรับราชการอยู่ด้วยกันอาจไม่สนิทกัน[4] จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ปกครองเมืองพระตะบองและเสียมราฐ ขึ้นตรงต่อสยาม เมืองพระตะบองและเสียมราฐจึงผนวกเข้าสู่การปกครองโดยตรงของสยามกลายเป็น “เขมรใน”
พระนารายณ์รามาธิบดี (นักองค์เอง) กษัตริย์กัมพูชาอยู่ในราชสมบัติได้สองปีถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2339 พระนารายณ์รามาธิบดีมีพระโอรสได้แก่นักองค์จันทร์ นักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) รักษาการกัมพูชาอยู่จนถึงพ.ศ. 2345 เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) จึงนำพระโอรสทั้งสี่ของพระนารายณ์รามาธิบดีมาเข้าเฝ้าฯ อยู่ที่กรุงเทพจนถึงพ.ศ. 2349 เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงเทพฯ[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงอภิเษกนักองค์จันทร์ขึ้นเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาฯกษัตริย์กัมพูชาในพ.ศ. 2349 ในครั้งนั้นพระเจ้าเวียดนามยาล็ององเชียงสือได้ส่งตราทองมาถวายให้การรับรองแก่นักองจันทร์ด้วย[1] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ขอพระราชทานนักองค์อีและนักองค์เภาพระปิตุจฉาซึ่งเป็นพระสนมในกรมพระราชวังบวรฯให้กลับคืนสู่กัมพูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯไม่โปรดฯพระราชทานตามคำขอเนื่องจากนักองค์อีและนักองค์เภาได้มีพระธิดาแล้ว[4] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์กราบบังคมทูลลากลับกัมพูชาไปในพ.ศ. 2349 เข้าเฝ้าเวลาออกพระบัญชรนักองค์จันทร์เข้าไปเข้าเฝ้าเองไม่มีผู้นำเบิกตัวตามธรรมเนียม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯพิโรธตรัสบริภาษนักองค์จันทร์ต่อหน้าข้าราชการทั้งปวง[4] นักองค์จันทร์ได้รับความอัปยศอย่างมาก พระยาเดโช (เม็ง) เจ้าเมืองกำปงสวายเป็นกบฏต่อนักองค์จันทร์ในพ.ศ. 2351[1] หลบหนีมายังกรุงเทพ นักองค์จันทร์ขอให้ทางกรุงเทพส่งตัวพระยาเดโช (เม็ง) กลับกัมพูชา แต่ทางกรุงเทพไม่ส่งให้
กบฏของพระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง)
[แก้]พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2352 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ถึงแก่อสัญกรรมในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งตั้งพระยาวิบูลราช (แบน) ขึ้นเป็นพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าเมืองพระตะบองคนต่อมา[5] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ ส่งพระอนุชาคือนักองค์สงวนและนักองค์อิ่ม พร้อมทั้งพระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง) นำเครื่องบรรณาการเข้าช่วยงานพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า ในอดีตตำแหน่งย์เจ้ากัมพูชามีพระมหาอุปโยราชและพระมหาอุปราช สมควรที่จะแต่งตั้งให้ตำแหน่งครบถ้วยตามธรรมเนียมเดิม[6] จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นักองค์สงวนเป็นพระมหาอุปโยราช และนักองค์อิ่มเป็นพระมหาอุปราช พระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน) พระมหาอุปราช (นักองค์อิ่ม) พระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) กราบทูลลากลับกัมพูชาในปีพ.ศ. 2352 ฝ่ายพระยาเดโช (เม็ง) เมื่อไกล่เกลี่ยเจรจากันแล้ว จึงมีพระราชโองการให้พระยาเดโช (เม็ง) กลับไปกัมพูชาเช่นกัน พระยาเดโช (เม็ง) กลับไปอยู่ที่เมืองกำปงสวาย
ในปีพ.ศ. 2352 นั้น เกิดสงครามพม่าตีเมืองถลาง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีศุภอักษรให้พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนถือออกไปให้แก่สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ ให้เกณฑ์ทัพกัมพูชาเข้ามาช่วยป้องกันพระนคร แต่ทว่านักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชานิ่งเฉยไม่เกณฑ์ทัพมาตามพระราชโองการ ฝ่ายพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) และพระยาสังคโลก (เวด)[5] เจ้าเมืองโพธิสัตว์ ขุนนางกัมพูชาซึ่งฝักใฝ่สยาม เกรงว่าจะมีความผิด จึงจัดการเกณฑ์ไพร่พลเพื่อยกเข้ามาช่วยกรุงเทพ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระอุไทยราชา สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงทรงให้จับกุมตัวพระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง) มาประหารชีวิตไปเสียในเดือนกันยายน พ.ศ. 2353 ส่วนพระยาสังคโลก (เวด) นั้นหลบหนีมายังกรุงเทพฯ ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ทำค่ายเมืองพระตะบองไว้เตรียมป้องกัน
สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชา มีพระอักษรไปแจ้งแก่ฝ่ายญวนเจ้าเมืองไซ่ง่อนชื่อเหงียนวันเญิน (Nguyễn Văn Nhơn, 阮文仁) ว่า พระยาจักรี (แบน) และพระยากลาโหม (เมือง) เป็นกบฏ ขอบารมีพระเจ้ายาล็ององเชียงสือเป็นที่พึ่ง[6] ในเวลาเดียวกันนักองค์จันทร์มีศุภอักษรตอบเข้ามาที่กรุงเทพว่า ได้จัดเตรียมทัพไว้ยกเข้ามาช่วยพระนครแล้ว แต่เกิดกบฏของพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) ขึ้นเสียก่อน จึงไม่ได้ยกทัพมาตามศุภอักษร ฝ่ายเวียดนามเหงียนวันเญิน ยกทัพญวนจำนวน 1,000 คน[1] จากไซ่ง่อนมาตั้งที่เกาะจีนเมืองละแวก ส่วนพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้จัดทัพเข้ารักษาบริเวณเขตแดนกับสยามและเมืองพระตะบองทุกทิศทาง[6] เหงียนวันเญินส่งหนังสือถึงพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ที่เมืองพระตะบอง พระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) มีใบบอกเข้ามาที่กรุงเทพฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์[1]จึงมีพระบัณฑูรให้พระยาพิชัยรณฤทธิ์ พระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง หลวงสุเรนทรนุชิต และปลัดเมืองนครราชสีมา คุมกองทัพไปตั้งมั่นที่เมืองพระตะบอง ถือหนังสือเจรจาความไปมอบให้แก่เหงียนวันเญิน แต่ยังไม่ทันได้ส่งหนังสือ ฝ่ายเหงียนวันเญินซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองละแวกเห็นว่าฝ่ายสยามไม่ได้ยกทัพลงมา เหงียนวันเญินจึงยกทัพกลับไซ่ง่อนไปก่อนในเดือนมกราคมพ.ศ. 2354 พระยาพิชัยรณฤทธิ์และพระยารองเมืองฯจึงตั้งทัพอยู่ที่พระตะบอง
ฝ่ายกรุงเทพตัดสินว่า ถึงแม้ว่าพระยาจักรี (แบน) พระยากลาโหม (เมือง) และพระยาสังคโลก (เวด) นั้น กระทำการไปเพื่อช่วยเหลือกรุงเทพฯก็จริง แต่ก็ละเมิดพระราชอำนาจของพระเจ้ากัมพูชา[6] จึงมีความผิด อีกทั้งยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชานั้นเป็นกบฏต่อกรุงเทพ จึงให้จับกุมตัวพระยาสังคโลก (เวด) ที่กรุงเทพไว้ พระอุไทยราชาส่งพระยาวงศาอรรคราช (ติ)[1] ยกทัพไปตีพระยาเดโช (เม็ง) ที่กำพงสวาย พระยาเดโช (เม็ง) จึงอพยพหลบหนีมายังกรุงเทพอีกครั้ง
ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 - 2355
[แก้]กบฏของนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว์
[แก้]เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2354 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวน เสด็จออกผนวชไปประทับอยู่กับพระมหาสังฆราชา (พระธรรมวิปัสสนา)[1] พระภิกษุที่ได้รับความนับถือจากพระราชวงศ์กัมพูชา ที่เขาพระราชทรัพย์ ในเดือนธันวาคม พระองค์แก้วเจ้าชายเขมรสิ้นพระชนม์ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2355 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนลาผนวชออกแล้ว เสด็จออกจากเมืองอุดงบันทายเพชร ในเวลากลางคืน เพื่อไปจัดแต่งงานศพพระองค์แก้ว ขุนนางเขมรรวมทั้งสิ้นเจ็ดคนมารับแห่งนักองค์สงวนไปประทับที่เมืองโพธิสัตว์ พระอุไทยราชานิมนต์ส่งพระมหาสังฆราชออกไปเชิญนักองค์สงวนกลับมาเองอุดง[1] นักองค์สงวนไม่กลับมา พระอุไทยราชาส่งขุนนางกลุ่มหนึ่งไปเชื้อเชิญให้นักองค์สงวนกลับมา นักองค์สงวนกลับยึดตัวขุนนางเหล่านั้นไว้หมด พระอุไทยราชาจึงส่งพระยาบวรนายก (สวด) ไปขอความช่วยเหลือจาก"องลิวกิน"เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อน เหงียนวันเญินจึงให้"องเจิงเคญเทือง"เหงียนวันถว่าย (Nguyễn Văn Thoại, 阮文瑞) นำทัพเรือ 500 คน[1] พร้อมทั้งเรือแง่โอเรือแง่ทราย มาตั้งอยู่ที่เกาะจีนเมืองละแวกอีกครั้ง
กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์มีพระบัณฑูรให้พระยายมราช (ควร) ขุนนางเขมรออกมาช่วยงานศพพระองค์แก้ว พระยายมราช (ควร) มาพบกับนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว์ นักองค์สงวนฝากข้อความแก่พระยายมราช (ควร) กราบทูลขอพระราชทานเมืองตะขร้อ (Krakor) เมืองขลุง และเมืองตรอง[1] ให้แก่นักองค์สงวนแยกมาปกครองเอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า นักองค์จันทร์และนักองค์สงวนวิวาทกันจนเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น จะมีศุภอักษรออกไปให้สมานสามัคคีกันดังเดิมคงไม่เพียงพอ[6] ต้องมีกองทัพไปควบคุมสถานการณ์ด้วย จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ยกทัพออกไปสมทบกับพระยาพิไชยรณฤทธิ์และพระยารองเมืองฯที่เมืองพระตะบองในเดือนมีนาคม
การรบที่กำปงชนัง
[แก้]ในเดือนเมษายน องเชืองเกิญเทือง เหงียนวันถว่าย ให้องจันกว้าง[1]ไปเมืองพระตะบอง พระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน) จับตัวองจันกว้างไว้เสีย และนักองค์สงวนยังส่งกองกำลังไปโจมตีเมืองพนมเปญอีกด้วย สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ เสด็จออกจากเมืองอุดงไปประทับที่ค่ายโพโตกเพื่อเตรียมการรับมือทัพสยาม มีพระราชโองการให้พระยาสังคโลก พระยาเอกราช (แทน) พระยาเพชรเดโชเจ้าเมืองลาดปะเอีย มาตั้งทัพที่เมืองริวิฉนาก[6] ให้พระยาโยธาสงคราม (มา) อยู่ตั้งรักษาที่เมืองกำปงชนัง โดยมีพระยาธรรมเดโช (มัน) เป็นแม่ทัพใหญ่ทางเรือ[1] และให้พระยายมราช (คง) คอยลาดตระเวณ
เจ้าพระยายมราช (น้อย) เกรงว่า หากยกทัพสยามจากพระตะบองลงไปจะทำให้นักองค์จันทร์ตื่นตระหนกตกใจ จึงให้พระยารองเมืองฯถือหนังสือลงไปถวายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ที่เมืองอุดงแจ้งความให้ทราบก่อน แต่นักองค์จันทร์กลับนิ่งเฉยไม่ตอบ เจ้าพระยายมราชส่งพระภักดีนุชิตถือหนังสือลงไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พระภักดีนุชิตถูกพระยายมราช (คง) และพระยาเพชรเดโชยึดสาสน์และคุมตัวไว้ที่เมืองริวิฉนาก เจ้าพระยายมราช (น้อย) เห็นว่า พระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชาดูหมิ่นสยามสิ้นยำเกรง[6] จึงยกทัพลงไปจากเมืองพระตะบอง
ในเดือนเมษายน เจ้าพระยายมราช (น้อย) พระยารองเมืองฯ พระยายมราช (ควร) พระยาจักรี (เชด) และพระวิเศษสุนทร (รศ) ยกทัพจำนวน 3,000[1] คน ออกจากเมืองพระตะบองมาถึงเมืองโพธิสัตว์ แล้วแห่นักองค์สงวนออกมาจากเมืองโพธิสัตว์ ยกทัพเข้าตีเมืองกำพงชะนัง นำไปสู่การรบที่กำปงชนัง ในขณะที่พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพเรือยกทัพจำนวน 2,000[1] คน มาทางเรือ พระยาธรรมเดโช (มัน) พระยาโยธาสงคราม (มา) และพระยาบวรนายก (สวด) ป้องกันเมืองกำพงชะนัง ฝ่ายกัมพูชายิงปืนเข้าใส่กองเรือเสบียงฝ่ายสยามของพระยาสุรสงคราม แต่พระยาสุรสงครามไม่ตอบโต้[6] ฝ่ายไทยปล่อยองจันกว้างออกมา แจ้งแก่ฝ่ายเขมรว่า ครั้งนี้กองทัพไทยมาจำนวนมาก บรรดาขุนนางกัมพูชาที่กำพงชนังจึงให้พระมนตรีสงครามลงเรือพายไปกราบทูลพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ที่โพโตก ว่าครั้งนี้สยามยกมาเป็นจำนวนมากเห็นเกินจะรับไหว[6] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงเสด็จพร้อมทั้งพระราชวงศ์และบรรดาขุนนางลงเรือพระที่นั่งไปพนมเปญ
นักองค์จันทร์ลี้ภัยไปไซ่ง่อน
[แก้]"องเจิงเคญเทือง"เหงียนวันถว่ายเตรียมเรือมารับนักองค์จันทร์และพระราชวงศ์กัมพูชาที่เมืองพนมเปญ[1] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงปรึกษากันว่าหากเสด็จหนีตามนักองค์จันทร์ไปเวียดนามก็จะเป็นกบฏไปด้วย[6] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงจึงเสด็จหนีจากเมืองพนมเปญไปหาฝ่ายไทย ฝ่ายญวนและฝ่ายนักองค์จันทร์ส่งกำลังออกติดตามนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงแต่ไม่ทัน เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งขุนนางมากราบทูลเชิญนักองค์จันทร์ไปประทับที่ไซ่ง่อนหรือเมืองบันแง[1] พระยาสุรสงครามนำกองเรือเดินทางถึงค่ายโพโตกเมืองอุดง ทราบว่าพระอุไทยราชานักองค์จันทร์หลบหนีไปพนมเปญแล้ว นำกองเรือไปตามนักองค์จันทร์แต่ไม่ทัน พบเพียงแต่ราษฎรชาวเขมรสับสนวุ่นวายอยู่ จึงป่าวประกาศให้กลับมาอยู่บ้านเรือนตามเดิม เจ้าพระยายมราชเมื่อมาถึงเมืองอุดงบันทายเพชรทราบว่านักองค์จันทร์เสด็จหลบหนีไปถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว จึงมีหนังสือถึงเจ้าเมืองไซ่ง่อนและนักองค์จันทร์ ชี้แจงว่าฝ่ายสยามยกทัพลงมาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อทำสงครามแต่เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างนักองค์จันทร์และนักองค์สงวน แต่นักองค์จันทร์และเจ้าเมืองไซ่ง่อนนิ่งเสียไม่ตอบ[6] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงเสด็จหนีจากนักองค์จันทร์มาถึงเมืองอุดงประทับอยู่กับนักองค์สงวน
เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อน สร้างตำหนักที่ประทับที่เมืองไซ่ง่อนถวายให้พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ และยังถวายเงินอีแปะพันพวงข้าวสารพันถัง พระอุไทยราชาให้พระยาบวรนายก (สวด) พระยาพหลเทพ (ขวัญ) และเจ้าพระพุฒ (ตวนผอ) ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามยาล็องที่เมืองเว้ เดือนสิงหาคมพระเจ้าเวียดนามพระราชทานเงินทอง ผ้าแพร อิแปะ 5,000 ตะโนด[1]
ฝ่ายเจ้าพระยายมราช (น้อย) รอคอยหนังสือตอบอยู่ที่เมืองอุดงบันทายเพชรตลอดฤดูแล้ง ทั้งเจ้าเมืองไซ่ง่อนและนักองค์จันทร์ไม่มีการตอบรับ จึงคิดว่าหากเข้าถึงฤดูน้ำหลาก ฝ่ายญวนจะสามารถยกทัพเรือขึ้นมาช่วยนักองค์จันทร์กลับคืนมาได้สะดวก ที่ชัยภูมิของทัพสยามนั้นเสียเปรียบ เสบียงอาหารก็หมดสิ้นลงทุกวัน เจ้าพระยายมราชจึงปรึกษากันกับนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง ว่าความผิดของนักองค์จันทร์นั้นเป็นโทษกบฏโดยตรง เจ้าชายทั้งสามแจ้งว่ายินยอมทำตามคำสั่งของเจ้าพระยายมราชทุกประการ เจ้าพระยายมราชจึงมีคำสั่งให้เผาทำลายเมืองอุดงบันทายเพชร เมืองพนมเปญ และเมืองกำพงหลวงด้วยกันทั้งสามเมือง[1] เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นของศัตรู เมืองอุดงซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรเขมรอุดงมาเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยปีจึงถูกเผาทำลายลงในครั้งนี้ จากนั้นจึงอพยพกวาดต้อนชาวเขมรเข้าไปยังเมืองพระตะบอง ให้พระยารองเมืองฯ และพระยายมราช (ควร) รอฟังข่าวนักองค์จันทร์อยู่ที่เมืองบันทายเพชร เจ้าพระยายมราชนำเจ้าชายเขมรทั้งสาม คือนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯโปรดฯพระราชทานที่อยู่เดิมของนักองค์เองที่วังเจ้าเขมรให้เป็นที่ประทับ
บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง
[แก้]ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2355 ทางกรุงเทพทราบว่า เฮี้ยวคังไท้เห่า (孝康太后, Hiếu Khang Thái hậu) หรือดึกไทเฮาพระชนนีของพระเจ้าเวียดนามยาล็องสิ้นพระชนม์ จึงแต่งคณะทูตไปสักการะคำนับพระศพของดึกไทเฮา มีพระยาราชเสนาเป็นราชทูต เมื่อเจ้าพระยายมราช (น้อย) นำเจ้าชายเขมรทั้งสามกลับมาแจ้งข้อราชการ จึงมีพระราชโองการให้อัญเชิญพระราชสาสน์ออกไปอีก[6]ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2355 ให้พระยาราชเสนาถวายแก่พระเจ้ายาล็อง ชี้แจงเหตุการณ์ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงนักองค์จันทร์ จนได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์กัมพูชา แต่กลับบิดพลิ้วไม่มาร่วมพระราชพิธี ประพฤติแข็งข้อต่อกรุงเทพหลายประการ และยังหลบหนีไปเมืองไซ่ง่อนเสียอีก ฝ่ายพระเจ้ายาล็องมีราชสาสน์ตอบกลับมาว่า กองทัพสยามยกทัพลงไปเบียดเบียนชาวเขมรได้รับความเดือดร้อน แม้แต่วังของนักองค์จันทร์ก็เผาทำลายลงเสีย นักองค์สงวนเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย "เป็นข้าก็ไม่ตรงต่อเจ้า เป็นน้องไม่อดออมต่อพี่"[6] โทษของนักองค์สงวนมากกว่าผู้อื่น แต่หากนักองค์สงวนยอมขอโทษก็จะหายโทษ "เนื้อกับกระดูกจะได้ร่วมกัน" ฝ่ายกรุงเทพจึงมีความเข้าใจว่าฝ่ายญวนนั้นให้การสนับสนุนแก่นักองค์จันทร์นการต่อต้านสยาม แต่หากจะยกทัพไปทำการสงครามกับเวียดนามตอนนี้ไม่เหมาะสม เพราะมีฤดูน้ำหลากฝ่ายเวียดนามได้เปรียบทางเรือ อีกทั้งเกรงว่าจะเกิดศึกสองด้านกับพม่าและเวียดนาม ควรรักษาทางไมตรีกับญวนไว้ก่อน
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2356 จึงโปรดฯให้พระยามหาอำมาตย์เป็นราชทูต พระยาราชโยธาเป็นอุปทูต ไปยังเมืองเวียดนามอัญเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้ายาล็อง พระเจ้ายาล็องตรัสแก่ทูตว่า จะให้นักองค์จันทร์กลับจากไซ่ง่อนไปคืนครองเมืองกัมพูชาตามเดิม ความผิดของนักองค์จันทร์ในครั้งนี้ขอพระราชทานงดเว้นสักครั้งหนึ่ง ในเดือนเมษายน พระเจ้ายาล็องมีพระราชโองการให้"องต๋ากุน"เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) และ"องเหียบกิน"โงเญินติ่ญ (Ngô Nhân Tịnh, 吳仁靜) นำกองกำลังญวนจำนวนทั้งสิ้น 13,000 คน แห่นำพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับคืนปกครองกัมพูชาตามเดิม เลวันเสวียตนำแห่นักองค์จันทร์ออกจากเมืองไซ่ง่อนมากลับคืนเมืองพนมเปญในเดือนพฤษภาคม โดยมีพระยามหาอำมาตย์และพระยาราชโยธาขุนนางราชทูตสยามร่วมเดินทางส่งนักองค์จันทร์เป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย พระยายมราช (ควร) และพระวิเศษสุนทร (รศ) ขุนนางกัมพูชาฝ่ายไทยที่รอคอยอยู่ที่เมืองอุดงเข้าเฝ้าพระอุไทยราชา หลังจากส่งนักองค์จันทร์กลับเมืองกัมพูชาเสร็จสิ้นแล้ว ขุนนางฝ่ายไทยได้แก่ พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชโยธา พระยายมราช (ควร) และพระวิเศษสุนทร (รศ) จึงเดินทางกลับเมืองพระตะบอง
สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ทรงปูนบำเหน็จขุนนางที่ได้ช่วยเหลือพระองค์มา พระยาบวรนายก (สวด) ได้เลื่อนเป็นพระยาจักรี เจ้าพระพุฒ (ตวนผอ) ขุนนางแขกจามได้เลื่อนเป็นพระยายมราช เมื่อนักองค์จันทร์เสด็จกลับมาถึงเมืองพนมเปญ พบว่าเมืองอุดงบันทายเพชรและเมืองพนมเปญถูกฝ่ายสยามเผาทำลายลงจนสิ้นแล้ว องต๋ากุนเลวันเสวียตให้สร้างป้อมเมืองใหม่ให้แก่นักองค์จันทร์ นักองค์จันทร์แจ้งว่าเมืองอุดงนั้นเป็นที่สูงไม่ต้องการประทับอยู่ที่เมืองอุดง[6] แต่ประสงค์จะประทับที่พนมเปญเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำหากสยามบุกรุกรานมาทัพเรือเวียดนามจะสามารถเข้าช่วยเหลือได้สะดวก เลวันเสวียตจึงสร้างป้อมเมืองใหม่ขึ้นที่พนมเปญชื่อว่าเมือง”บันทายแก้ว”ให้แก่นักองค์จันทร์ และสร้างป้อมเมืองละว้าเอม (Lvea Aem) ไว้สำหรับทหารญวนไว้ประจำการ รวมทั้งสร้างศาลไว้ที่แหลมจะโรยจังวา (Chroy Changvar) ตรงข้ามเมืองพนมเปญ เพื่อบูชาเหงียนหิวกั๋ญ (Nguyễn Hữu Cảnh, 阮有鏡)[7] แม่ทัพญวนซึ่งได้เคยพิชิตกัมพูชาเมื่อพ.ศ. 2243 เมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อนหน้า (พงศาวดารไทยและกัมพูชาระบุว่าเพื่อบูชาพระเจ้ายาล็อง) พระอุไทยราชาและบรรดาขุนนางกัมพูชา แต่งกายอย่างญวน สวมเสื้อญวนและโพกศีรษะญวน[1] ขึ้นสักการบูชาพระเจ้ายาล็องที่ศาลจะโรยจังวานั้นทุกวันขึ้นหนึ่งค่ำและขึ้นสิบห้าค่ำเดือนละสองครั้ง[6] เลวันเสวียตให้องเชืองเกิญเทือง เหงียนวันถว่าย เป็น"เบาฮอ"[1] (bảo hộ) หรือองโปโห[6] เป็นข้าหลวงของญวนในกัมพูชา เลวันเสวียตให้เบาฮอเหงียนวันถว่ายนำกำลังญวน 1,500 คน อยู่รักษานักองค์จันทร์ที่เมืองพนมเปญ ส่วนองต๋ากุนเดินทางกลับเมืองเว้
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2357 พระเจ้าเวียดนามยาล็องมีพระราชโองการให้"องเหียบกิน" นำเสื้อหมวกกางเกงและเครื่องยศญวนพระราชทานมามอบให้แก่นักองค์จันทร์ที่พนมเปญบันทายแก้ว นักองค์จันทร์ให้เรือประโคมพิณพาทย์ไปรับองเหียบกินมาที่จะโรยจังวา พระอุไทยราชาทรงเครื่องยศญวนแล้วขึ้นถวายบังคมรับพระบารมีพระเจ้าเวียดนามที่ศาลจะโรยจังวา บรรดาขุนนางกัมพูชาล้วนแต่งตัวโพกศีรษะญวนทั้งสิ้น[1]
แม้ว่าในทางพิธีการราชสำนักกัมพูชาจะยังคงส่งเครื่องบรรณาการมาถวายที่กรุงเทพฯทุกปีดังเดิมแต่ก็ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายที่เมืองเว้ทุกสามปีเช่นกัน ในทางปฏิบัติหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในกัมพูชาพ.ศ. 2354 แล้ว กัมพูชาจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม
เขมรตีเมืองพระตะบอง พ.ศ. 2358
[แก้]ในพ.ศ. 2358 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้พระยายมราช (ตวนผอ) และพระยาธรรมเดโช (มัน) ยกทัพไปปราบพระยาเดโช (เม็ง) ที่เมืองกำปงสวาย พระยาเดโช (เม็ง) หลบหนีไปอยู่เมืองโขง พระอุไทยราชาทรงให้ตวนหมัดพี่ชายของตวนผอเป็นพระยาเดโชเจ้าเมืองกำปงสวายคนใหม่[1]
พระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองพระตะบอง ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งตั้งพระยาวิเศษสุนทร (รศ) ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)[5] ขึ้นเป็นพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าเมืองพระตะบองคนใหม่
สมเด็จพระอุไทยราชาทรงปรึกษากับองเบาฮอ เหงียนวันถว่าย ข้าหลวงญวน ว่าเมืองพระตะบองตกไปขึ้นแก่สยาม เมืองพระตะบองนั้นสยามให้เป็นที่เตรียมเสบียงและไพร่พลในการยกทัพเข้าโจมตีกัมพูชาทุกครั้ง สมควรที่จะกำจัดอิทธิพลของสยามไปให้พ้นจากพระตะบอง[6] เหงียนวันถว่ายเห็นด้วย ให้พระอุไทยราชานักองค์จันทร์หาเหตุยกทัพเข้าไปในแขวงเมืองพระตะบองเพื่อเก็บน้ำนมศิลาและมูลค้างคาวตามธรรมเนียม ถ้าฝ่ายสยามไม่สู้ก็ให้ยึดเมืองพระตะบองเลย ถ้าฝ่ายสยามสู้ก็ให้เก็บน้ำนมศิลามูลค้างคาวมาอย่างเดียว แต่การนี้ฝ่ายญวนจะไม่ข้องเกี่ยวให้ฝ่ายกัมพูชาจัดการเอง ในเวลานั้นเองพระยาเดโช (ตวนหมัด) เข้ามาทูลว่ามีทัพสยามยกมาจากนครราชสีมา[1] นักองค์จันทร์จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) เป็นแม่ทัพ พระยาสังคโลก (นอง) เป็นทัพหน้า ให้พระยาโยธาสงคราม (มัน) พระยาเอกราช (แทน) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ให้กองกำลังกัมพูชาอีกกองหนึ่งไปตั้งรักษาไว้ที่เกาะกำยาน สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ยกทัพไปตั้งอยู่ที่บ้านโอระแวง[6]
ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ และพระยารามกำแหง เมื่อทราบว่าฝ่ายกัมพูชายกทัพมาเมืองพระตะบอง จึงยกทัพออกไปห้ามแต่สมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ไม่ฟัง แจ้งว่ามาเก็บน้ำนมศิลาและมูลค้างคาวตามธรรมเนียม แล้วฝ่ายกัมพูชาก็ยกทัพเข้ามาตั้งที่หนองจอก สมเด็จเจ้าพระยาตั้งทัพที่บ้านอันลงกูบ พระยาเอกราช (แทน) ตั้งค่ายที่เขาบานน ฝ่ายกัมพูชายกทัพเข้ามาทางบ้านสลึงปิดทางเมืองโตนดอีกทางหนึ่ง พระยาอภัยภูเบศร์ส่งพระยาวงษาธิราชออกไปสู้รบกับพระยาเอกราช (แทน) ที่เขาบานน พระยาเอกราช (แทน) พ่ายแพ้ พระยาสังคโลก (นอง) ถูกจับกุมไปกรุงเทพ[5] สมเด็จเจ้าพระยาจึงถอยทัพกัมพูชากลับไป ฝ่ายสยามกวาดต้อนชาวกัมพูชาจากเกาะกำยานไปไว้ที่พระตะบอง นักองค์จันทร์จึงให้พระยายมราช (ตวนผอ) ไปตั้งรับที่เปียมพระสทึง
พระยาอภัยภูเบศร์และพระยารามกำแหงมีใบบอกเข้ามากราบทูลเหตุการณ์เมืองพระตะบองแก่กรุงเทพ ทางกรุงเทพให้พระยารองเมืองฯและพระพรหมบริรักษ์ออกมาสืบความได้ความจริง จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์[6] นำทัพเกณฑ์กรุงเทพและนครราชสีมาไปตั้งรอรับที่เมืองพระตะบอง และมีศุภอักษรไปถึงพระเจ้ายาล็องถึงเหตุที่ข้าหลวงญวนร่วมกับขุนนางกัมพูชามารบกวนเมืองพระตะบอง
ฝ่ายเวียดนามพระเจ้ายาล็องมีพระราชโองการให้ขุนนางญวนจากไซ่ง่อนเดินทางมาสอบสวนพระยาเอกราชในเดือนกรกฎาคม[1] ได้ความแล้วพระเจ้าเวียดนามจึงมีพระราชโองการให้จับกุมตัวสมเด็จเจ้าพระยา (ติ) ฝ่ายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (ตวนผอ) พระยาจักรี (สวด) และพระยาราชเดชะ (หลง) ยกทัพไปจับกุมตัวสมเด็จเจ้าพระยาแล้วส่งให้แก่ญวนที่ไซ่ง่อน พระเจ้าเวียดนามจึงทรงมีศุภอักษรเข้ามาที่กรุงเทพว่า ได้สอบสวนสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว พบว่าฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาได้ยกทัพเข้าไปในเขตเมืองพระตะบองจริง แต่ยกไปเพียงเพื่อเก็บน้ำนมศิลามูลค้างคาวตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่ฝ่ายเมืองพระตะบองไม่ยินยอมจึงเกิดการสู้รบขึ้น ฝ่ายเมืองพระตะบองยกทัพติดตามไปถึงบ้านพระกำเบียนหรือเกาะกำยานกวาดต้อนชาวกัมพูชากว่า 1,400 คนกลับไปพระตะบอง สมเด็จเจ้าพระยามีความผิดได้มอบตัวให้แก่ทางฝ่ายกัมพูชาไปลงโทษแล้ว ขอให้ฝ่ายกรุงเทพชำระโทษกรมการเมืองพระตะบองด้วย ฝ่ายกรุงเทพนื่งเฉยไม่ตอบแต่ประการใด[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 1.27 1.28 1.29 1.30 หนังสือราชพงษาวดารเขมร. พิมพ์คราวที่ 2. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์วัชรินทร์บริษัท, พ.ศ. 2445.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- ↑ 3.0 3.1 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 16: พงศาวดารเมืองพระตะบอง
- ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 6.18 6.19 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส
- ↑ Cao Xuân Dục. Quốc triều chính biên toát yếu (國朝正編撮要). พ.ศ. 2451. https://cvdvn.files.wordpress.com/2018/03/que1bb91ctrie1bb81uchc3a1nhbic3aantoc3a1tye1babfu.pdf